Search
Close this search box.

ไทยเผยความสำเร็จจากความร่วมมือเฝ้าระวังโรคอุบัติใหม่และแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่าง 6 ประเทศลุ่มน้ำโขง หรือ MBDS พร้อมส่งไม้ตำแหน่งประธานให้เวียดนามต่อ

สำนักงาน​เลขานุการ MBDS ร่วมกับกรมควบคุม​โรค ประเทศ​ไทย จัดประชุมคณะกรรมการบริหารและผู้ประสานงาน เครือข่ายเฝ้าระวังโรคลุ่มน้ำโขง 6 ประเทศสมาชิก สรุปความสำเร็จและพร้อมต่อยอดความร่วมมือ 5 ประเด็น ในปีต่อไป

วันที่ 9 ธันวาคม 2565 ณ โรงแรม OZO North Pattaya จังหวัดชลบุรี นายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ฐานะประธานเครือข่ายเฝ้าระวังโรคลุ่มน้ำโขง เปิดการประชุมคณะกรรมการบริหารและผู้ประสานงาน เครือข่ายเฝ้าระวังโรคลุ่มน้ำโขง (Mekong Basin Disease Surveillance Executive Board and Country Coordinating: MBDS EB&CC) พร้อมผู้เเทนผู้บริหารสาธารณสุขจาก 6 ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา จีน ลาว เมียนมา เวียดนาม และไทย เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้การดำเนินงานเฝ้าระวังโรคและกิจกรรมด้านการป้องกันควบคุมโรคตลอดระยะเวลา 22 ปีที่ก่อตั้งเครือข่ายนี้ ตลอดจนการหารือเพื่อต่อยอดความร่วมมือในอนาคตให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมวัฒนธรรมตามกระแสโลกาภิวัตน์​

นายแพทย์โสภณ กล่าวว่า การประชุมเครือข่าย MBDS EB&CC ในครั้งนี้ เป็นการประชุมครั้งสุดท้ายของปี 2565 ในวาระที่ไทยดำรงตำแหน่งประธานเครือข่ายเฝ้าระวังโรคลุ่มน้ำโขง มาครบ 1 ปี ซึ่งปีที่ผ่านมาได้จัดให้มีการประชุมร่วมกับประเทศสมาชิกอย่างสม่ำเสมอทุกไตรมาสทำให้สามารถรับมือหรือติดต่อประสานงานกรณีเร่งด่วนได้ดียิ่งขึ้น มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลสถานการณ์โรคติดต่ออุบัติใหม่และมาตรการป้องกันโรค ตัวอย่างเช่น โรคฝีดาษวานรรายแรกในไทยที่หลบหนีไปยังประเทศกัมพูชา และจากการส่งข่าวของผู้ประสานงานไทยไปให้ทางการกัมพูชาทันที ทำให้สามารถควบคุมตัวผู้ป่วยรายนี้ได้ทันควัน ไม่เกิดการแพร่เชื้อต่อ ในที่ประชุมได้ผลัดกันนำเสนอความเห็นการดำเนินงานในระยะต่อไปและเห็นชอบใน 5 ประเด็นความร่วมมือของเครือข่ายการเฝ้าระวังโรคลุ่มน้ำโขง ดังนี้

1) สนับสนุนการขยายพื้นที่หรือเครือข่ายหน่วยงานในการดำเนินงานเฝ้าระวังโรคและเหตุการณ์ผิดปกติตามแนวคิดสุขภาพหนึ่งเดียว (คน สัตว์ และสิ่งแวดล้อม) หรือ One Health ผ่านโปรแกรม MBDS-EBS (Event-Based Surveillance) ภายใต้กรอบ​ความร่วมมือ​ MOU ของจังหวัดชายแดนและจังหวัดคู่ขนาน (Twin cities) หรือเครือข่ายการฝึกอบรมการระบาดวิทยา (FETN)

2) บูรณาการงานสื่อสารความเสี่ยงให้หลากหลายภาษา โดยเฉพาะในพื้นที่ชายแดน เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อการเฝ้าระวัง ป้องกันควบคุมโรคในกลุ่มประชากรเคลื่อนย้าย โดยเฉพาะแรงงานข้ามชาติ

3) ส่งเสริมการตีพิมพ์และเผยแพร่ผลงานวิชาการในนามเครือข่าย MBDS อาทิ การตอบสนองต่อโรคโควิด 19 ในพื้นที่ชายแดนของแต่ละประเทศ, การแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านห้องปฏิบัติการในการตรวจหาเชื้อโควิด 19 หรือ ทบทวนความสำเร็จ ช่องว่างและโอกาสการพัฒนาของเครือข่ายเฝ้าระวัง MBDS เพื่อสร้างการรับรู้และความยอมรับในวงกว้าง

4) ปรับปรุงรายชื่อผู้ประสานงานหลักของแต่ละประเทศ เพื่อสนับสนุนการประสานงานที่รวดเร็ว และต่อเนื่อง

5) จัดทำข้อเสนอแผนการดำเนินงานในภาพรวมระดับภูมิภาคในระยะต่อไป ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเครือข่ายในภาพรวม  และเพิ่มโอกาสที่จะได้รับการสนับสนุนด้านงบประมาณ บุคลากร และอื่นๆ จากแหล่งทุนระหว่างประเทศ​ในอนาคต

นายแพทย์โสภณ กล่าวอีกว่า 6 ประเทศสมาชิกเล็งเห็นความสำคัญและพร้อมสนับสนุนการดำเนินงานของแต่ละสมาชิกในเครือข่ายในอนาคตอันใกล้นี้จะมีการเดินทางระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นมาก จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือในการป้องกันและควบคุมโรคอุบัติใหม่และอุบัติซ้ำที่ทันต่อสถานการณ์ ทั้งนี้ได้เเสดงความยินดีกับผู้แทนประเทศเวียดนามสำหรับการหน้าที่เป็นประธานเครือข่ายเฝ้าระวังโรคลุ่มน้ำโขง หรือ MBDS ต่อจากประเทศไทยในปี 2566 นี้

 

********************************

ข้อมูลจาก : สำนักงานความร่วมมือระหว่างประเทศ/สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค

วันที่ 13 ธันวาคม 2565

 

 

แชร์เลย / Share