Search
Close this search box.
  • Version
  • ดาวน์โหลด 214
  • ขนาดไฟล์ 362.88 KB
  • จำนวนไฟล์ 1
  • วันที่สร้าง กันยายน 6, 2022
  • วันที่ปรับปรุงล่าสุด กันยายน 6, 2022
  • หน่วยงาน กลุ่มสื่อสารภายในองค์การ

แนวคิดการรณรงค์วันตับอักเสบโลก ประจำปี 2565 “Hepatitis B & C can’t wait: โรคไวรัสตับอักเสบ บี และ ซี ตรวจเร็ว รักษาเร็ว รอไม่ได้”

แนวคิดการรณรงค์วันตับอักเสบโลก ประจำปี 2565

“Hepatitis B & C can’t wait: โรคไวรัสตับอักเสบ บี และ ซี ตรวจเร็ว รักษาเร็ว รอไม่ได้”

องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ให้ความสำคัญต่อการกำจัดโรคไวรัสตับอักเสบ จึงกำหนดให้ วันที่ 28 กรกฎาคม
ของทุกปี เป็นวันตับอักเสบโลก (World Hepatitis Day) เพื่อให้ทุกประเทศร่วมกันรณรงค์และมีเป้าหมายการดำเนินงานป้องกันและควบคุมโรคไวรัสตับอักเสบให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยองค์การอนามัยโลก (WHO) และประเทศสมาชิก ได้กำหนดเป้าหมาย
การกำจัดโรคไวรัสตับอักเสบ บี และ ซี ภายในปี พ.ศ. 2573 ประกอบด้วย ลดการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี รายใหม่ ร้อยละ 95
และลดการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ ซี รายใหม่ ร้อยละ 80 ผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี และ ซี ได้รับการวินิจฉัย ร้อยละ 90 ผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี และ ซี ได้รับการรักษามากกว่า ร้อยละ 80 และอัตราการเสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับโรคไวรัสตับอักเสบ บี และ ซี ลดลง
ร้อยละ 65 เนื่องจาก ผู้ติดเชื้อโรคไวรัสตับอักเสบ บี และ ซี ส่วนใหญ่มักไม่มีอาการ ทำให้ไม่ทราบสถานการณ์ติดเชื้อของตนเอง
ทำให้ผู้ติดเชื้อไม่เข้ารับบริการตรวจคัดกรองและรักษา จะเข้ารับการรักษาก็ต่อเมื่อมีอาการรุนแรง ซึ่งอาจนำไปสู่การเกิดภาวะตับแข็ง กลายเป็นมะเร็งตับ และเสียชีวิตในที่สุด

สำหรับประเทศไทยคาดการณ์ว่าจะมีผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี เรื้อรัง ประมาณ 2.2 - 3 ล้านคน โดยมีอัตราความชุกประมาณร้อยละ 4 - 5 ของประชาชน ที่เกิดก่อนปี 2535 ทำให้พบผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี เรื้อรัง ในประชากรที่มีอายุ 30 ปี ขึ้นไปเป็นส่วนมาก สำหรับผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ ซี คาดว่ามีประมาณ 3 - 8 แสนคน

การดำเนินงานกำจัดโรคไวรัสตับอักเสบในประเทศไทย ดำเนินงานภายใต้กรอบแนวคิดในการผลักดันให้
การแก้ไขปัญหาไวรัสตับอักเสบ บี และ ซี ให้เป็นแผนงานโรคที่มีความสำคัญลำดับสูงของระบบสาธารณสุขในประเทศไทย
เน้นการยกระดับบริการ (Leverage) การป้องกันแก้ไขและการดูแลรักษาโรคไวรัสตับอักเสบ บี และ ซี ให้ประชากรกลุ่มเป้าหมายสามารถเข้าถึงบริการได้อย่างครอบคลุม ต่อเนื่อง มีคุณภาพ และยั่งยืน ภายใต้การทำงานแบบบูรณาการ (Integrate) ระหว่างแผนงานที่มีวิธีการ ติดเชื้อร่วมกัน ได้แก่ โรคไวรัสตับอักเสบ เอชไอวี โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ การอนามัยเจริญพันธุ์ และการลดอันตราย
จากการใช้ยาเสพติด โดยการพัฒนาโครงสร้างและกลไกที่ก่อให้เกิดการประสานความร่วมมือขององค์กรในภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และองค์กรท้องถิ่น ในการดำเนินงานเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาไวรัสตับอักเสบ บี และ ซี
ด้วยความตระหนักในการเป็นเจ้าของปัญหาร่วมกัน (Partnership) อีกทั้งยังมุ่งเน้นเรื่องความเท่าเทียมด้านสุขภาพ
โดยปราศจากการตีตราและเลือกปฏิบัติ (Stigma & Discrimination) ต่อประชากรกลุ่มเป้าหมายและสมาชิกในครอบครัวอีกด้วย

ไวรัสตับอักเสบ บี: ป้องกันได้ด้วยวัคซีน

  • ไวรัสตับอักเสบ บี มีช่องทางที่แพร่เชื้อสำคัญคือ การติดเชื้อจากแม่สู่ลูก การติดเชื้อจากการได้รับเลือดและผลิตภัณฑ์ของเลือดก่อนปี พ.ศ. 2535 การติดเชื้อผ่านทางผิวหนังที่เป็นแผลเมื่อสัมผัสกับเลือดหรือ
    สารคัดหลั่งของผู้ป่วย (percutaneous transmission) และ การมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่ติดเชื้อ (sexual transmission)

โรคไวรัสตับอักเสบ บี สามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีน ในแผนการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคของประเทศไทย ได้บรรจุวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบ บี ตั้งแต่ พ.ศ. 2535 ให้เด็กทุกคนได้รับวัคซีนเพื่อป้องกันโรคไวรัส
ตับอักเสบ บี โดยได้รับวัคซีนเมื่อแรกเกิด อายุ 2, 4 และ 6 เดือน สำหรับประชาชนที่เกิดก่อนปี พ.ศ. 2535 ควรตรวจหาการติดเชื้อโรคไวรัสตับอักเสบ บี ซึ่งสามารถตรวจได้ที่โรงพยาบาลทุกแห่ง หากพบว่า
ยังไม่เคยติดเชื้อ และไม่มีภูมิคุ้มกัน แนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบ บี ให้ครบชุด จำนวน 3 เข็ม
ที่ 0, 1 และ 6 เดือน ในกรณีที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี สามารถรักษาได้ด้วยการกินยาต้านไวรัส
ซึ่งจะช่วยชะลอการเกิดภาวะตับแข็ง และลดการเกิดมะเร็งตับได้

ไวรัสตับอักเสบ ซี: รักษาได้ หายขาด

  • ไวรัสตับอักเสบ ซี มีช่องทางที่แพร่เชื้อสำคัญคือ การได้รับเลือดและผลิตภัณฑ์ของเลือดก่อน
    ปี พ.ศ. 2535 การฉีดยาเสพติด/ใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน การสักผิวหนังหรือหัตการของแพทย์พื้นบ้าน
    ในสถานที่ที่ไม่ถูกสุขลักษณะ และไม่ได้ทำความสะอาดเครื่องมืออย่างถูกวิธี การมีเพศสัมพันธ์
    โดยไม่ได้ป้องกัน โดยเฉพาะในกลุ่มชายรักชาย และกลุ่มที่มีการติดเชื้อเอชไอวีร่วมด้วย
  • โรคไวรัสตับอักเสบ ซี ยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรค ดังนั้น ควรหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงทุกประเภท
    เพื่อป้องกันไม่ให้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ ซี อย่างไรก็ดี โรคไวรัสตับอักเสบ ซี สามารถรักษาให้หายขาดได้
    ผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงควรเข้ารับบริการตรวจคัดกรองโดยเร็ว ซึ่งปัจจุบันสามารถตรวจคัดกรอง
    ได้สะดวกและรวดเร็ว และหากตรวจยืนยันพบการติดเชื้อจะสามารถรักษาได้ด้วยการกินยาต้านไวรัสอย่างต่อเนื่องจนครบ 12 สัปดาห์

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ขอเชิญชวนหน่วยบริการสุขภาพ และองค์กรภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน ตลอดจนสื่อมวลชน ร่วมกันจัดกิจกรรมรณรงค์ และเผยแพร่ประชาสัมพันธ์เนื่องในวันตับอักเสบโลกประจำปี 2565
ให้กับประชาชนในพื้นที่ทั่วประเทศ ภายใต้แนวคิด Hepatitis B & C can’t wait: โรคไวรัสตับอักเสบ บี และ ซี ตรวจเร็ว รักษาเร็ว รอไม่ได้”

  • ตรวจเร็ว เพื่อทราบสถานะการติดเชื้อไวรัสตับ บี และ ซี ในผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยง สำหรับ
    หญิงตั้งครรภ์ควรได้รับการตรวจหาการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี เพื่อป้องกันการถ่ายทอดเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี จากแม่สู่ลูก ส่วนผู้ที่เกิดก่อน ปี 2535 หากตรวจไม่พบการติดเชื้อและไม่มีภูมิคุ้มกันต่อไวรัสตับอักเสบ บี ควรได้รับการฉีดวัคซีน เพื่อป้องกันการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี
  • รักษาเร็ว ผู้ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี และ ซี ควรได้รับการรักษาเพื่อเข้าถึงยาที่มีประสิทธิภาพโดยเร็ว โดยเฉพาะโรคไวรัสตับอักเสบ สามารถรักษาให้หายขาดได้
  • รอไม่ได้ ไวรัสตับอักเสบ บี และ ซี เป็นภัยเงียบใกล้ตัว ที่ไม่ควรรอให้เกิดภาวะตับแข็งและมะเร็งตับ

กรมควบคุมโรค ได้จัดทำข้อมูลและสื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ในรูปแบบ Infographic, VDO Clip
และ Banner สนับสนุนแก่ภาคีเครือข่ายทั่วประเทศ ดังนี้ ดาวน์โหลดสื่อต้นแบบได้ที่เว็บไซต์กองโรคเอดส์และโรคติดต่อ
ทางเพศสัมพันธ์ https://ddc.moph.go.th/das

 

ที่มา : กองโรคเอดส์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์  กรมควบคุมโรค

โทร 0 2590 3291

FileAction
แนวคิดวันตับอักเสบโลก 2565.pdfดาวน์โหลด
แชร์เลย / Share