กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรคเเละกรมวิทยาศาสตร์การเเพทย์ ร่วมประชุมกับ 10 ประเทศสมาชิกอาเซียนและแคนาดาทบทวนการรับมือภัยคุกคามทางชีวภาพของภูมิภาค พร้อมชู 3 โครงการของการพัฒนาเครือข่ายนักระบาดวิทยาภาคสนาม การยกระดับความปลอดภัยทางห้องปฏิบัติการ เเละศูนย์ตอบโต้เร็วภายใต้ ACPHEED เพิ่มความแข็งแกร่งด้านการจัดการโรคติดต่อและโรคอุบัติใหม่ในภูมิภาคอาเซียน
วานนี้ (26 กรกฎาคม 2565) นายเเพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนฝ่ายไทยในการประชุมประสานงานเพื่อบรรเทาภัยคุกคามทางชีวภาพ ระยะที่ 2 (COORDINATION MEETING ON THE MITIGATION OF BIOLOGICAL THREATS (MBT) PROGRAMME PHASE 2) พร้อมด้วยนายแพทย์อนุพงค์ สุจริยากุล นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ สัตวเเพทย์หญิงเสาวพักตร์ ฮิ้นจ้อย ผู้อำนวยการสำนักงานความร่วมมือระหว่างประเทศ ผู้แทนจากกรมควบคุมโรค และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ระหว่างวันที่ 26-29 กรกฎาคม 2565 ณ โรงเเรม Millennium Hilton กรุงเทพฯ
นายเเพทย์โสภณ กล่าวว่า ภัยคุกคามทางชีวภาพ อาทิ โรคติดเชื้ออุบัติใหม่ เป็นความสำคัญอันดับต้นของประเทศต่างๆ รวมถึงประเทศไทยด้วย เห็นได้จากการระบาดของโรคโควิด 19 ยังพบมีการเปลี่ยนเเปลงสารพันธุกรรมเเละระบาดแล้วหลายระลอกตั้งเเต่ต้นปี 2563 หรือล่าสุดกับโรคฝีดาษวานร (Monkeypox) ที่องค์การอนามัยโลกประกาศเป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2565 เน้นชัด ถึงความสำคัญของความมั่นคงด้านสุขภาพที่ภูมิภาคอาเซียนที่ต้องช่วยกันยกระดับสมรรถนะและขีดความสามารถในการจัดการกับภัยคุกคามทางชีวภาพให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น ภายใต้การดำเนินการร่วมกับประเทศสมาชิกอาเซียนซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากประเทศแคนาดา
ประเทศไทยมี 3 โครงการในการจัดการกับภัยคุกคามทางชีวภาพ ได้แก่ 1) โครงการพัฒนาเครือนักระบาดวิทยาภาคสนามในภูมิภาคอาเซียน+3 (ASEAN+3 FETN) โดย กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค 2) โครงการ Enhancing Biosafety, Biosecurity and Bioengineering for Health Laboratories in ASEAN โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เเละ 3) การจัดตั้งศูนย์ด้านการตอบโต้เร็ว (Response) ของศูนย์อาเซียน ด้านการรับมือกับภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขและโรคอุบัติใหม่ (ACPHEED) เเละมีการตั้งสำนักงานเลขาธิการฯ ของ ACPHEED ในประเทศไทยด้วย เพื่อสนับสนุนการทำงานร่วมกับอีกสองศูนย์ในอินโดนีเซียเเละเวียดนาม
นายเเพทย์โสภณ กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมา 10 ประเทศอาเซียนมีการเเลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร เเละประเมินความเสี่ยงต่อการระบาดของโรคติดต่ออย่างต่อเนื่อง ผ่านรายงานสถานการณ์เเละประเมินความเสี่ยงจาก ASEAN BioDiaspora ซึ่งเป็นหนึ่งในหลายโครงการของ MBT ภายใต้การสนับสนุนของรัฐบาลแคนาดา ดังนั้น การประชุมนี้จึงเป็นการทบทวน ปรับปรุง และประเมินผลการดำเนินโครงการ MBT ระยะที่ 2 ที่กำลังดำเนินอยู่ และหารือทบทวนโครงการใหม่ในระยะที่ 3 เพื่อให้มั่นใจว่าความมั่นคงด้านสุขภาพของประชาชนภูมิภาคอาเซียนจะเข้มเเข็งรับมือ โรคเเละภัยคุกคามทางชีวภาพได้อย่างมีประสิทธิภาพ
**********************************
ข้อมูลจาก : สำนักงานความร่วมมือระหว่างประเทศ กรมควบคุมโรค
วันที่ 27 กรกฎาคม 2565