กระทรวงสาธารณสุข ร่วมมอบรางวัล “ตรวจเร็ว รักษาเร็ว” ระดับประเทศ ยุติเอดส์ภายในปี 2573 รอบที่ 2 ให้แก่ 12 จังหวัด ผลักดันผู้มีพฤติกรรมเสี่ยงเข้าถึงการตรวจเร็ว รักษาเร็ว ด้วยยาต้านไวรัสได้ทันทีและต่อเนื่อง โดยรางวัลชนะเลิศ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร พร้อมสนับสนุน 3 มาตรการ ขับเคลื่อนการเข้าถึงบริการตรวจเอชไอวี แบบบูรณาการทุกภาคส่วน
วันนี้ (10 พฤศจิกายน 2566) ที่โรงแรมเรเนซองส์ กรุงเทพฯ ราชประสงค์ นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร รักษาราชการแทนอธิบดีกรมควบคุมโรค ได้รับมอบหมายจากนายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานมอบรางวัล “โครงการแข่งขันชิงรางวัลตรวจเร็ว รักษาเร็ว” ระดับประเทศ รอบที่ 2 ให้แก่ 12 จังหวัด และกล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมกับภาคีเครือข่าย เร่งรัดดำเนินงานยุติเอดส์ให้ได้ตามเป้าหมายภายในปี 2573 มาอย่างต่อเนื่อง โดยกรมควบคุมโรค ร่วมกับสถาบันเพื่อการวิจัยและนวัตกรรมด้านเอชไอวี สำนักงานหลักประสุขภาพแห่งชาติ โครงการโรคเอดส์แห่งสหประชาชาติ (UNAIDS) และเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง จัดโครงการแข่งขันชิงรางวัล “ตรวจเร็ว รักษาเร็ว” ระดับประเทศ
“ขอแสดงความยินดีและชื่นชมกับ 12 จังหวัดที่ได้รับรางวัลโครงการตรวจเร็ว รักษาเร็ว ซึ่งพยายามและตั้งใจในการพัฒนางานบริการให้กับประชาชนในพื้นที่ รวมทั้งขอชื่นชมจังหวัดที่เข้าร่วมโครงการแข่งขันทั้ง 2 ครั้ง แสดงให้เห็นถึงการให้ความสำคัญในการร่วมดำเนินงานเพื่อลดการเสียชีวิตเนื่องจากเอดส์ของประเทศไทย” นายแพทย์ธงชัย กล่าว
นายแพทย์ธงชัย กล่าวต่อว่า กระทรวงสาธารณสุข มุ่งพัฒนาการเข้าถึงระบบบริการแบบบูรณาการ ร่วมกับองค์กร ภาคประชาสังคม เครือข่าย และอสม. ในการค้นหาผู้ติดเชื้อในพื้นที่ผ่าน 3 มาตรการสำคัญ คือ 1) ส่งเสริมการตรวจคัดกรอง 4 โรค ได้แก่ เอชไอวี โรคซิฟิลิส โรคไวรัสตับอักเสบ บี และ ซี ในสถานบริการสุขภาพใกล้บ้าน และพัฒนาระบบการดูแลรักษาที่คำนึงถึงผู้รับบริการเป็นศูนย์กลาง เพื่อเพิ่มการเข้าถึงการบริการ 2) เร่งรัดพัฒนาคุณภาพการตรวจรักษาเอชไอวี เมื่อพบการติดเชื้อให้รีบเข้ารับการรักษาโดยเร็ว เพื่อลดการเสียชีวิตจากเอดส์ และ 3) ส่งเสริมการตรวจเอชไอวีให้เป็นเรื่องปกติ สนับสนุนชุดตรวจเอชไอวีด้วยตนเองฟรี เข้าถึงได้ง่าย และสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเรื่อง เอชไอวี/เอดส์ ผ่านระบบเครือข่ายในชุมชน เช่น อสม. รพ.สต. หน่วยบริการปฐมภูมิ องค์กรภาคประชาสังคม และแกนนำเยาวชน ซึ่งนอกจากจะทำให้วินิจฉัยการติดเชื้อได้เร็ว นำสู่การลดการตีตราและการเลือกปฏิบัติอีกด้วย
ด้าน ศาสตราจารย์กิตติคุณ นายแพทย์ประพันธ์ ภานุภาค ประธานกรรมการโครงการฯ กล่าวว่า โครงการแข่งขันชิงรางวัล “ตรวจเร็ว รักษาเร็ว” ได้จัดการแข่งขันจำนวน 2 รอบ ตั้งแต่ปี 2565 โดยรอบนี้ จังหวัดที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร รองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ จังหวัดเชียงราย รองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ ชัยภูมิ รางวัลชมเชย ได้แก่ จังหวัดชลบุรี เชียงใหม่ บุรีรัมย์ พิษณุโลก ภูเก็ต อุดรธานี และอุบลราชธานี รางวัลขวัญใจกรรมการ ได้แก่ จังหวัดพัทลุง นอกจากนี้จังหวัดมหาสารคามได้รับใบประกาศเกียรติคุณและโล่ประกาศเกียรติยศ
********************************
ข้อมูลจาก : กองโรคเอดส์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์/สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค
วันที่ 10 พฤศจิกายน 2566