วันนี้ (9 ตุลาคม 2566) นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร รักษาราชการแทนอธิบดีกรมควบคุมโรค เดินทางเข้ารับตำแหน่งวันแรก พร้อมเป็นประธานการประชุมเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์โรคและภัยสุขภาพ โดยโรคและภัยสุขภาพที่กรมควบคุมโรคติดตามอยู่ในขณะนี้ ได้แก่ โรคไข้หวัดใหญ่ โรคไข้ฉี่หนู โรคไข้เลือดออก โรคติดเชื้อไวรัสซิก้า โรคฝีดาษวานร และภัยสุขภาพ ได้แก่ การได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากอุทกภัย รวมถึงได้สั่งการให้ติดตามสถานการณ์สงครามในอิสราเอลอย่างใกล้ชิด
นายแพทย์ธงชัย กล่าวว่า ช่วงนี้ยังคงเป็นช่วงหน้าฝน ซึ่งมีโรคและภัยสุขภาพที่มาในช่วงหน้าฝนมากมาย และหนึ่งในนั้นคือโรคไข้หวัดใหญ่ที่ยังพบผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง สถานการณ์โรคไข้หวัดใหญ่ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 2 ตุลาคม 2566 พบผู้ป่วย จำนวน 248,322 ราย เสียชีวิต 8 ราย กลุ่มอายุที่พบมากที่สุด คือ อายุ 10-14 ปี (19.02%) รองลงมาคือ เด็กแรกเกิด - 4 ปี (15.94%) และ อายุ 7-9 ปี (14.98%) ขอให้ประชาชนสวมหน้ากากอนามัยเมื่ออยู่ในบริเวณที่ชุมชนหรือพื้นที่แออัด ล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่ หรือแอลกอฮอล์เจล และเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่
สถานการณ์โรคไข้ฉี่หนูตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 2 ตุลาคม 2566 พบผู้ป่วย จำนวน 2,817 ราย เสียชีวิต 32 ราย กลุ่มอายุที่พบผู้ป่วยมากที่สุด คือ อายุ 45-54 ปี (18.53%) รองลงมาคืออายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป (18.03%) และอายุ 35-44 ปี (16.19%) ผู้ป่วยส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรที่มีการเดินลุยน้ำย่ำโคลน
สถานการณ์โรคไข้เลือดออกตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 6 ตุลาคม 2566 พบผู้ป่วย จำนวน 106,548 ราย เสียชีวิต 101 ราย กลุ่มอายุที่พบผู้ป่วยมากที่สุด คือ กลุ่มเด็กอายุ 5-14 ปี รองลงมา 15-24 ปี และเด็กแรกเกิด - 4 ปี สถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสซิกาวันที่ 1 มกราคม - 4 ตุลาคม 2566 พบผู้ป่วย จำนวน 479 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต พบผู้ป่วยรายใหม่ เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่ผ่านมา 20 ราย กลุ่มอายุที่พบผู้ป่วยมากที่สุด คือ 25-34 ปี รองลงมาคือ อายุ 35-44 ปี และอายุ 45-54 ปี
สถานการณ์โรคฝีดาษวานร ข้อมูล ณ วันที่ 1 ตุลาคม 2566 พบผู้ป่วย จำนวน 461 ราย เป็นชาวไทย 413 ราย ต่างชาติ 45 ราย ไม่ทราบสัญชาติ 3 ราย จึงขอให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์กับคนไม่รู้จัก ไม่สัมผัสแนบเนื้อกับผู้ที่มีผื่น ตุ่ม หรือหนอง แนะนำให้ล้างมือบ่อยๆ และไม่ใช้ของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น
สำหรับสถานการณ์อุทกภัยระหว่างวันที่ 26 กันยายน - 6 ตุลาคม 2566 จังหวัดที่ประสบอุทกภัยมี 17 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดลำปาง สุโขทัย ตาก ร้อยเอ็ด ขอนแก่น กาฬสินธุ์ ชัยภูมิ ยโสธร อำนาจเจริญ อุบลราชธานี ปราจีนบุรี เพชรบูรณ์ ลพบุรี อยุธยา อ่างทอง สระบุรี และสุพรรณบุรี พร้อมกำชับให้ประชาชนติดตามข้อมูลข่าวสารสภาพอากาศตามประกาศเตือนของกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด ระมัดระวังภัยสุขภาพที่มากับน้ำท่วม ได้แก่ การจมน้ำ ไฟฟ้าช็อต และระมัดระวังอุบัติเหตุการจมน้ำ และหลีกเลี่ยงการดื่มสุราเมื่ออยู่ใกล้แหล่งน้ำ น้ำท่วมหรือบริเวณที่มีน้ำไหลเชี่ยว อาจตกน้ำเสียชีวิตได้
นายแพทย์ธงชัย กล่าวต่อว่า กรมควบคุมโรคมีความห่วงใยประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ประสบอุทกภัย จึงได้สนับสนุนชุดเวชภัณฑ์ และชุดช่วยเหลือผู้ประสบภัย ซึ่งมอบไปแล้วกว่า 4,000 ชุด โดยมอบให้กับหน่วยงานในสังกัด ซึ่งก็คือสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่อยู่ในพื้นที่น้ำท่วม เพื่อให้นำไปช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยต่อไป ทั้งนี้ หากประชาชนป่วยมีอาการติดเชื้อทางเดินหายใจ เช่น ไข้ ไอ น้ำมูก เจ็บคอหายใจเหนื่อย และมีประวัติสัมผัสสัตว์ปีกป่วยตาย เมื่อพบแพทย์ขอให้แจ้งข้อมูลให้แพทย์ทราบด้วย
นอกจากนี้ ยังได้มอบหมายให้หน่วยงานในสังกัด ได้แก่ กองด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศและกักกันโรค กองโรคติดต่อทั่วไป กองโรคไม่ติดต่อ ให้ติดตามสถานการณ์การสู้รบที่ประเทศอิสราเอลอย่างใกล้ชิด เพื่อเตรียมการช่วยเหลือแรงงานไทยที่จะอพยพกลับมา โดยให้เตรียมการคัดกรองสุขภาพคนไทย สถานะสุขภาพ เช่น มีอาการเจ็บป่วยหรือบาดเจ็บหรือไม่ เป็นต้น ทั้งนี้ ยังได้ประสานงานกับกรมสุขภาพจิตให้ไปช่วยเหลือทางจิตใจแก่แรงงานที่จะเดินทางกลับมา
*********************************
ข้อมูลจาก : กองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน/สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค
วันที่ 9 ตุลาคม 2566