Search
Close this search box.

กรมควบคุมโรค kickoff โครงการลดบริโภคเกลือและโซเดียม เปิดร้าน “ก๋วยเตี๋ยวดีต่อไต” จ.อุดรธานี

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เปิดโครงการลดการบริโภคเกลือและโซเดียม จังหวัดอุดรธานี : ร้านก๋วยเตี๋ยว ดีต่อไต เพื่อสร้างกระแสส่งเสริมสุขภาพ ลดการบริโภคเกลือและโซเดียม ให้ผู้ประกอบการสามารถปรับสูตรน้ำก๋วยเตี๋ยวให้มีปริมาณโซเดียมไม่เกินเกณฑ์มาตรฐาน โดยมีผู้ประกอบการร้านก๋วยเตี๋ยวกว่า 40 ร้าน ให้ความสนใจและเข้าร่วมโครงการ

วานนี้ (22 กุมภาพันธ์ 2567) ณ ห้องประชุมมุขมนตรี โรงแรมเจริญโฮเต็ล อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค เป็นประธานเปิดโครงการส่งเสริมสุขภาพ ลดการบริโภคเกลือและโซเดียม จังหวัดอุดรธานี : ร้านก๋วยเตี๋ยว ดีต่อไต เพื่อสร้างกระแสการส่งเสริมสุขภาพ ลดการบริโภคเกลือ และโซเดียม พร้อมด้วย นายแพทย์อภิชาต วชิรพันธ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค  นายแพทย์ศรายุธ อุตตมางคพงศ์ ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 2 จังหวัดพิษณุโลก  แพทย์หญิงศศิธร ตั้งสวัสดิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 8 จังหวัดอุดรธานี  นายแพทย์ทวีรัชต์ ศรีกุลวงศ์ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดอุดรธานี และผู้ประกอบการร้านก๋วยเตี๋ยว จำนวน 44 ร้าน  โดยได้รับเกียรติจาก นางคณิตา ราษฎร์นุ้ย รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี ร่วมพิธีเปิด

นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า โรคไม่ติดต่อเป็นปัญหาสุขภาพอันดับหนึ่งของโลกและของประเทศไทยในด้านจำนวนการเสียชีวิตและภาระโรคโดยรวม สถานการณ์ในประเทศไทยพบว่า อัตราการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร (อายุ 30-70 ปี) เกิดจากโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน โรคปอดเรื้อรัง และมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะโรคความดันโลหิตสูง ผู้ป่วยไม่รู้ตัวว่าป่วย ร้อยละ 44.70    ส่วนหนึ่งมาจากการบริโภคเกลือและโซเดียมเกินความจำเป็น องค์การอนามัยโลกจึงได้กำหนดให้ลดการบริโภคเกลือและโซเดียมลง ร้อยละ 30 เป็นเป้าหมายในการป้องกันควบคุมโรคไม่ติดต่อ

สถานการณ์การบริโภคเกลือและโซเดียมในประเทศไทย พบว่า มีค่าเฉลี่ยการบริโภคเกลือสูงกว่าคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก 1.5 - 2 เท่า และจากการสำรวจพฤติกรรมบริโภคอาหารของจังหวัดอุดรธานี ปี 2566 โดยสุ่มตรวจอาหารที่ประชาชนบริโภค จำนวน 3,810 ตัวอย่าง พบตัวอย่างอาหารมีค่าความเข้มข้นของโซเดียมอยู่ในระดับเริ่มเค็ม และเค็มมาก ร้อยละ 59.30 พบว่าอาหารประเภทส้มตำ มีค่าเฉลี่ยปริมาณโซเดียมต่อหน่วยบริโภคสูงที่สุด คือ 1,055.59 มิลลิกรัม รองลงมาเป็นอาหารประเภทก๋วยเตี๋ยว ก๋วยจั๊บ ราดหน้า มีค่าเฉลี่ยปริมาณโซเดียม 948.86 มิลลิกรัม ซึ่งอาหารประเภทก๋วยเตี๋ยวเป็นที่นิยมรับประทานมากในชีวิตประจำวัน

แพทย์หญิงศศิธร ตั้งสวัสดิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 8 จังหวัดอุดรธานี กล่าวว่า กรมควบคุมโรคร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุดรธานี จัดทำโครงการส่งเสริมสุขภาพ ลดการบริโภคเกลือ  และโซเดียม จังหวัดอุดรธานี : ร้านก๋วยเตี๋ยว ดีต่อไต เพื่อสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพ การมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่าย และสร้างความเข้าใจ ความตระหนักรู้ ให้ประชาชนให้ผู้ประกอบการปรับสูตรน้าก๋วยเตี๋ยวให้มีปริมาณโซเดียม ไม่เกินเกณฑ์มาตรฐาน โดยนำร่องในพื้นที่เทศบาลนครอุดรธานี มีจำนวนผู้ประกอบการร้านก๋วยเตี๋ยวรวมจำนวนทั้งสิ้น 44 ร้าน ที่เข้าร่วมโครงการ

ทั้งนี้ การดำเนินงานส่งเสริมสุขภาพ ลดการบริโภคเกลือและโซเดียม จะต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจของภาคีเครือข่ายภาคส่วนต่างๆ ทั้งในและนอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุข เพื่อขับเคลื่อนกิจกรรมการดำเนินงาน และการกระตุ้น หนุนเสริม สร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพให้แก่ประชาชนในพื้นที่ รู้ความเสี่ยงสุขภาพ เกิดความตระหนัก ในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบริโภค โดยเฉพาะลดการบริโภคเกลือและโซเดียม เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดโรคไม่ติดต่อต่อไป

 

**********************************

ข้อมูลจาก: สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 8 จังหวัดอุดรธานี/สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค

วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2567

แชร์เลย / Share