จากกรณีข่าวเหตุการณ์สุนัขเพศเมีย อายุประมาณ 2 ปี ซึ่งเป็นสุนัขเร่ร่อนไม่มีเจ้าของในพื้นที่หมู่ 6 บ้านห้วยมาลัย ตำบลหนองลู อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี ได้ไล่กัดเด็กและชาวบ้าน ในพื้นที่บ้านห้วยมาลัยจนได้รับบาดเจ็บ หลังเกิดเหตุ เจ้าหน้าที่ได้นำซากสุนัขตัวที่ไล่กัดชาวบ้านไปส่งตรวจและพบว่า สุนัขตัวดังกล่าวติดเชื้อพิษสุนัขบ้านั้น จากการสอบสวนและควบคุมโรคในพื้นที่อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อติดตามให้ประชาชนที่ถูกสุนัขกัด จำนวน 10 ราย โดยเข้ารับวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้า และรักษาบาดแผลจากสุนัขกัด ที่โรงพยาบาลสังขละบุรี
วันนี้ (22 ตุลาคม 2565) นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ รักษาราชการอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากเหตุการณ์ดังกล่าว ได้มีการมอบหมายสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 5 จ.ราชบุรี ลงพื้นที่ตรวจสอบ และให้คำแนะนำประชาชนในเรื่องของโรคพิษสุนัขบ้า พร้อมทั้งคัดกรองคนในชุมชนที่ถูกสัตว์กัด ข่วน เข้ารับการฉีดวัคซีน แต่อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันยังมีการพบสัตว์เป็นโรคพิษสุนัขบ้าได้ทั่วประเทศ ไม่เพียงแต่ในพื้นที่กาญจนบุรี และอาจมีผู้ได้รับบาดเจ็บจากการโดนสุนัขกัด จึงขอเตือนประชาชนว่า สาเหตุของคนที่เสียชีวิตด้วยโรคพิษสุนัขบ้าส่วนใหญ่ เกิดจากการถูกสุนัขกัด แล้วไม่ได้พบแพทย์ หรือเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าอย่างถูกต้อง ดังนั้นหากถูกสุนัขที่สงสัยว่าเป็นโรคพิษสุนัขบ้ากัด น้ำลายกระเด็นเข้าทางตา ปาก หรือทางผิวหนังที่มีบาดแผล แม้แผลเล็กน้อย ควรรีบปฐมพยาบาล โดยล้างแผลหรือบริเวณที่สัมผัสกับน้ำลายทันทีด้วยน้ำและฟอกด้วยสบู่เบาๆหลายๆครั้ง เช็ดแผลให้แห้ง ใส่ยาฆ่าเชื้อโพวีโดนไอโอดีน หรือทิงเจอร์ไอโอดีน จากนั้นควรไปพบแพทย์ทันที เพื่อรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าให้ครบโดส และควรมาพบแพทย์ตามนัดทุกครั้ง การฉีดวัคซีนป้องกันโรค ยิ่งฉีดหลังจากถูกกัด ข่วน ได้เร็วเท่าไหร่ ก็จะสามารถป้องกันโรคได้ดี หากปล่อยเอาไว้อาจสายเกินแก้ ซึ่งโรคนี้มีความรุนแรงหากได้รับเชื้อและแสดงอาการแล้วรักษาไม่หาย และเสียชีวิตทุกราย
การป้องกันที่ดีที่สุดคือ การป้องกันไม่ให้ถูกสัตว์กัด ไม่ว่าจะเป็นส่วนใดของร่างกาย ซึ่งอาจป้องกัน 3 ขั้นตอน ดังนี้ 1.ก่อนถูกกัด ใช้หลักการคาถา 5 ย. ป้องกันการถูกกัด ได้แก่ “อย่าแหย่ อย่าเหยียบ อย่าแยก อย่าหยิบ อย่ายุ่ง” คือ อย่าแหย่ให้สุนัขโมโห อย่าเหยียบสุนัขหรือทำให้สุนัขตกใจ อย่าแยกสุนัขที่กำลังกัดกันด้วยมือเปล่า อย่าหยิบชามอาหารขณะสุนัขกำลังกิน และอย่ายุ่งกับสุนัขนอกบ้านหรือที่ไม่ทราบประวัติ 2.กรณีถูกกัด ให้รีบล้างแผลด้วยสบู่และน้ำสะอาดหลายๆ ครั้ง ใส่ยาฆ่าเชื้อ เช่น เบตาดีน และรีบไปพบแพทย์โดยทันที เพื่อรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคอย่างเหมาะสม รวมถึงกักขังสัตว์ที่กัด สังเกตอาการอย่างน้อย 10 วัน หากสุนัขหรือแมวเสียชีวิต ให้รีบแจ้งผู้นำชุมชนที่อยู่ใกล้ที่สุด และแจ้งปศุสัตว์ในพื้นที่ เพื่อส่งสัตว์ที่สงสัยตรวจหาเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าทางห้องปฏิบัติการ และ 3.หลังจากถูกกัด ควรรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าอย่างต่อเนื่องครบชุดตามเวลาที่แพทย์นัด ซึ่งโดยส่วนใหญ่จะฉีดเพียง 4 – 5 ครั้งเท่านั้น
“ขอให้ประชาชนร่วมด้วย ช่วยกัน ในการเฝ้าระวังสัตว์ที่อาจเป็นโรคพิษสุนัขบ้าในพื้นที่ที่ตนเองอาศัยอยู่ และหากพบเห็นสัตว์ที่สงสัยว่าอาจเป็นโรคพิษสุนัขบ้า คือมีอาการหางตก เดินโซเซ น้ำลายย้อย ลิ้นห้อย ตาขวาง ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ หรือผู้นำชุมชนทันที เพื่อให้มีการตรวจหาเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์เหล่านี้ได้อย่างทันท่วงที รวมถึงเมื่อประชาชนถูกสุนัขแมวกัดหรือข่วน ให้รีบล้างแผล ใส่ยา กักสุนัข 10 วัน จากนั้นให้รีบมาพบแพทย์เพื่อพิจารณาการให้วัคซีน และต้องมาฉีดวัคซีนให้ครบตรงตามนัดทุกครั้ง” ต้องฝากเตือนชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่ ให้เพิ่มความระมัดระวังในการเข้าไปสัมผัสกับสุนัขและแมวให้มากขึ้น หากไม่จำเป็น พยายามอย่าเข้าไปสัมผัสกับสุนัข โดยเฉพาะในกลุ่มสุนัขจรจัดที่ไม่มีเจ้าของ เพราะอาจเกิดความเสี่ยงได้ ในส่วนของเด็กและชาวบ้านที่ถูกสุนัขตัวที่ติดเชื้อพิษสุนัขบ้ากัด และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขได้ดำเนินการฉีดวัคซีนให้ครบทุกคนแล้ว และยังคงเฝ้าติดตามอาการอย่างใกล้ชิด” นายแพทย์ธเรศ กล่าว
นายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับอาการของโรคพิษสุนัขบ้า หลังจากรับเชื้อ ผู้ป่วยจะแสดงอาการเบื่ออาหาร เจ็บคอ ปวดเมื่อยตามเนื้อตัว มีไข้ อ่อนเพลีย ชา เจ็บเสียว หรือปวดบริเวณรอยแผลที่ถูกกัด คันอย่างรุนแรงที่แผล ต่อมาจะมีอาการกระสับกระส่าย ไม่ชอบเสียงดัง เพ้อเจ้อ กลัวแสง กลัวลม กลัวน้ำ กลืนลำบาก โดยเฉพาะของเหลว และกล้ามเนื้อขากระตุก แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก หรืออาจชัก เกร็ง เป็นอัมพาต หมดสติ และเสียชีวิตในที่สุด ข้อปฏิบัติสำหรับเจ้าของสัตว์เลี้ยง ควรนำสัตว์เลี้ยงของตนเองไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า เมื่อสัตว์เลี้ยงมีอายุ 2-3 เดือนขึ้นไป 2 เข็ม และฉีดวัคซีนเป็นประจำปีละ 1 เข็ม นอกจากนี้ การขึ้นทะเบียนสัตว์เลี้ยง ไม่ปล่อยทิ้งให้เป็นสัตว์ที่ไม่มีเจ้าของ เป็นอีกวิธีที่ประชาชนสามารถช่วยแก้ปัญหาได้ กรมควบคุมโรค ยังมีการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการกำจัดโรคพิษสุนัขบ้าให้หมดไปจากประเทศไทย และต้องขอความร่วมมือร่วมใจจากประชาชนในการป้องกันตนเองจากการติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า ทั้งนี้หากประชาชนมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422
**********************************
ข้อมูลจาก : กองโรคติดต่อทั่วไป/สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค
วันที่ 22 ตุลาคม 2565