Search
Close this search box.
  • Version
  • ดาวน์โหลด 60
  • ขนาดไฟล์ 423.84 KB
  • จำนวนไฟล์ 1
  • วันที่สร้าง ตุลาคม 19, 2022
  • วันที่ปรับปรุงล่าสุด ตุลาคม 19, 2022
  • หน่วยงาน กลุ่มเฝ้าระวังเเละตอบโต้สื่อสารความเสี่ยง

กรมควบคุมโรค แนะช่วงน้ำท่วมหมั่นสำรวจมุมอับรอบบ้าน หากพบสัตว์มีพิษควรตั้งสติและ ขอความช่วยเหลือจากกู้ภัย

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เตือนประประชาชนที่อยู่ในพื้นที่น้ำท่วม ระวังสัตว์มีพิษที่หนีน้ำมาหลบซ่อนในบ้าน ขอให้ประชาชนระมัดระวังและสำรวจมุมอับรอบบ้านเป็นประจำ ตรวจเสื้อผ้าก่อนสวมใส่ และจัดเก็บสิ่งของและเครื่องใช้ต่างๆ อย่างเป็นระเบียบ หากพบสัตว์มีพิษควรตั้งสติและขอความช่วยเหลือจากกู้ภัย

วันนี้ (15 ตุลาคม 2565) นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ช่วงนี้ในหลายพื้นที่ของประเทศยังคงประสบปัญหาน้ำท่วม กรมควบคุมโรคจึงขอแนะนำประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ ให้ระมัดระวังอันตรายจากสัตว์มีพิษที่หนีน้ำมาหลบซ่อนในบ้านกัดต่อย เช่น งู ตะขาบ แมงป่อง โดยเฉพาะงู ซึ่งในประเทศไทยมีงูหลายชนิดที่มีพิษร้ายแรง หากถูกกัดอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

จากข้อมูลสถิติประเทศไทย ปี 2564 ของกองป้องกันการบาดเจ็บ กรมควบคุมโรค จำนวนผู้ถูกงูกัด และเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล จำนวน 7,107 ราย เพศชายถูกกัดมากกว่าเพศหญิงเกือบ 2 เท่า ส่วนใหญ่พบผู้ถูกงูกัดในช่วงฤดูร้อนถึงฤดูฝน คือช่วงเดือนเมษายน - พฤศจิกายน โดยในเดือนตุลาคมพบผู้ป่วยในจากสาเหตุงูกัดสูงสุดจำนวน 779 ราย ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมและลูกจ้างทั่วไป

สำหรับคำแนะนำการป้องกันสัตว์มีพิษในช่วงน้ำท่วม คือ 1.สอดส่องและสังเกตมุมอับของบ้านเป็นประจำ ติดตั้งไฟส่องสว่างให้เพียงพอ  2.สำรวจที่นอน ยกที่นอนให้สูงจากพื้น หากกางมุ้งได้ควรกางมุ้ง 3.สำรวจเสื้อผ้า รองเท้าก่อนสวมใส่ทุกครั้งและสวมรองเท้าบูทเมื่อเข้าสวน 4.ทำความสะอาดบ้านและดูแลบ้านให้เป็นระเบียบ 5.หลีกเลี่ยงการเดินในที่แคบหรือมีหญ้ารกขึ้นสูงในช่วงเวลากลางคืน

นายแพทย์ปรีชา เปรมปรี รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวเพิ่มเติมว่า ในกรณีที่ถูกงูกัดควรปฐมพยาบาลให้ถูกวิธี ดังนี้ 1.บีบเลือดบริเวณบาดแผลออก เพื่อขจัดพิษงูออกจากร่างกาย 2.ล้างแผลด้วยน้ำสะอาดและฟอกสบู่หรือน้ำด่างทับทิม ใช้ผ้าสะอาดซับให้แห้ง 3.พยายามให้อวัยวะที่ถูกกัดเคลื่อนไหวให้น้อยที่สุด อาจดามบริเวณดังกล่าวให้อยู่ในระดับต่ำกว่าหัวใจ ห้ามขันชะเนาะ หรือรัดเชือกแน่นเหนือแผล เพราะเสียงอวัยวะขาดเลือด อาจสูญเสียอวัยวะได้ พร้อมทั้งให้รีบนำส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว ทั้งนี้ หากพบ งูหรือสัตว์มีพิษเข้าบ้านควรตั้งสติให้ดี และโทรขอความช่วยเหลือได้ที่ 199 หรือหากได้รับบาดเจ็บให้โทร 1669

 

********************************

ข้อมูลจาก : กองป้องกันการบาดเจ็บ/สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค

วันที่ 15 ตุลาคม 2565

FileAction
Infographic งู.jpgดาวน์โหลด
แชร์เลย / Share