กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ห่วงประชาชนที่ใช้รถใช้ถนนในพื้นที่ฝนตกหนักและมีน้ำท่วมขัง ขอให้เพิ่มความระมัดระวังในการเดินทาง ไม่ควรขับรถเร็วขณะฝนตกหรือถนนเปียก พร้อมแนะ วิธีขับขี่รถให้ปลอดภัยช่วงน้ำท่วม
วันนี้ (22 กันยายน 2565) นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในช่วงนี้ประเทศไทยยังคงมีฝนตกฟ้าคะนอง และฝนตกหนักบางแห่ง รวมถึงฝนที่ตกสะสม อาจทำให้มีน้ำท่วมขังบนถนน ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุทางถนนได้ จากสถานการณ์อุบัติเหตุทางถนนของระบบสถิติข้อมูลอุบัติเหตุทางถนนระบบเฝ้าระวังการบาดเจ็บ พบว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 16 กันยายน 2565 มีผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ 207,139 ราย เสียชีวิต 3,520 ราย โดยเฉพาะช่วงเดือนกันยายนปีนี้ ที่มีฝนตกหนัก มีผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจำนวน 8,138 ราย เสียชีวิต 105 รวม 8,243 ราย จึงขอให้ประชาชนที่ขับขี่ยานพาหนะบนท้องถนนในช่วงฝนตก เพิ่มความระมัดระวังเป็นกรณีพิเศษ โดยการตรวจสอบสภาพรถและอุปกรณ์ให้พร้อมต่อการใช้งานในฤดูฝน เช่น ที่ปัดน้ำฝน ระบบไฟฟ้า ระบบยาง ระบบเบรก และไม่ควรขับรถเร็วขณะฝนตกหรือถนนเปียก โดยเฉพาะช่วงที่ฝนตก 10 นาทีแรก เป็นช่วงที่รถมีโอกาสเกิดอุบัติเหตุมากที่สุดจากการลื่นไถล เพราะน้ำฝนจะชะล้างคราบน้ำมันและฝุ่นละอองที่ติดอยู่บนพื้นถนน ทำให้เกิดเป็นเสมือนแผ่นฟิล์มฉาบอยู่บนผิวถนน อาจส่งผลให้รถลื่นและเสียหลักจนเกิดอุบัติเหตุได้
นายแพทย์โอภาส กล่าวต่อไปว่า ขอแนะนำผู้ขับขี่เพิ่มเติมว่า ขณะขับขี่ควรปฏิบัติตาม 7 วิธีในการขับขี่ให้ปลอดภัยช่วงฝนตกและมีน้ำท่วมขังบนถนน ดังนี้ 1.เพิ่มความระมัดระวังให้มากเป็นพิเศษ โดยลดความเร็วลงกว่าระดับปกติ เนื่องจากพื้นถนนที่เปียก รถจะใช้ระยะเบรกเพิ่มขึ้น และควรใช้ความเร็วที่เหมาะสมไม่เกิน 30-50 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จะช่วยให้สามารถควบคุมรถได้อย่างมีประสิทธิภาพ 2.เปิดไฟหน้ารถเสมอ ใช้ไฟต่ำจะช่วยให้เรามองเห็นสิ่งต่างๆ บนถนนได้ชัดเจนขึ้น และให้รถคันอื่นมองเห็นรถของเราได้ในระยะไกล 3.เปิดใบปัดน้ำฝน ปรับระดับความเร็วของใบปัดน้ำฝนให้สัมพันธ์กับความแรงของฝนที่ตกลงมา จะช่วยให้เรามองเห็นเส้นทางได้ตลอดเวลา 4.เว้นระยะห่างจากท้ายรถคันหน้าให้มากกว่าปกติอย่างน้อย 10-15 เมตร เพื่อให้มีระยะเบรกที่เพียงพอและปลอดภัย 5.หลีกเลี่ยงการแซง แต่หากจำเป็นควรประเมินสถานการณ์ให้ดีก่อนแซง 6.ในกรณีที่รถลื่นไถลหรือเหินน้ำ ไม่ควรเหยียบเบรกจนล้อหยุดหมุนทันที อาจทำให้รถพลิกคว่ำได้ ควรใช้เกียร์ต่ำ และค่อยๆ เบรก เพื่อลดความเร็ว แล้วจึงค่อยเหยียบเบรกเพื่อหยุดรถ และ 7.เมื่อต้องขับรถผ่านถนนที่มีน้ำท่วมขัง ขอให้หยุดประเมินสถานการณ์ หากระดับน้ำสูงกว่าขอบประตูรถ ไม่ควรขับฝ่าไป ควรเลี่ยงไปใช้เส้นทางอื่นแทน ทั้งนี้ หากพบเห็นผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุ ให้โทร 1669 เพื่อขอความช่วยเหลือจากทีมแพทย์กู้ชีพทันที
**********************************
ข้อมูลจาก : กองป้องกันการบาดเจ็บ/สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค
วันที่ 22 กันยายน 2565