กรมควบคุมโรค เผยความร่วมมือระหว่างประเทศ เป็นกลไกสำคัญและยังเป็นหนึ่งในปัจจัยแห่งความสำเร็จในการบริหารจัดการวิกฤตโรคโควิด 19 เช่น การสนับสนุนเวชภัณฑ์ต่างๆ รวมทั้งยา และวัคซีนจากต่างประเทศในระยะที่มีความต้องการสูงจากผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นในระยะที่มีการระบาด การสร้างความเข้าใจและเผยแพร่ข่าวสารผ่านเครือข่ายสถานทูตต่างประเทศในไทย รวมทั้งการเเลกเปลี่ยนข้อมูลสถานการณ์และมาตรการป้องกันโรคระหว่างประเทศที่ไทยมีความร่วมมือใกล้ชิดส่งผลดีต่อการเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ฉุกเฉิน มุ่งเตรียมยุทธศาสตร์ความร่วมมือระหว่างประเทศ 5 ปี ระยะที่ 2 เพื่อให้ความร่วมมือระหว่างประเทศเข้มเเข็งเพิ่มขึ้นอีกระดับเเละเป็นที่ยอมรับในเวทีระดับนานาชาติ
วันนี้ (23 มิถุนายน 2565) ณ โรงเเรมพูลแมน จี พัทยา จังหวัดชลบุรี นายเเพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค เป็นประธานเปิดการประชุมจัดทำร่างแผนยุทธศาสตร์ความร่วมมือระหว่างประเทศ ด้านการป้องกันควบคุมโรคเเละภัยสุขภาพ ระยะที่ 2 ประจำปี พ.ศ. 2566-2570 พร้อมด้วยที่คณะที่ปรึกษาทรงคุณวุฒิ ผู้เเทนจากศูนย์ความร่วมมือไทย-สหรัฐ ด้านสาธารณสุข ผู้บริหารและผู้รับผิดชอบจากหน่วยงานในสังกัดกรมควบคุมโรค หน่วยงานกระทรวงสาธารณสุข รวมทั้งผู้รับผิดชอบงานควบคุมโรคติดต่อชายแดนจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด รวมมากกว่า 80 คน
นายเเพทย์โสภณ กล่าวว่า จากประสบการณ์รับมือการระบาดของโรคโควิด 19 พบว่ากลไกความร่วมมือระหว่างประเทศมีความสำคัญและเป็นหนึ่งในปัจจัยแห่งความสำเร็จในการบริหารจัดการวิกฤตโรคโควิด 19 นอกจากนี้การสร้างความเข้าใจและเผยแพร่ข่าวสารผ่านเครือข่ายสถานทูตต่างประเทศในไทย เเละการประชุมชี้แจงให้ข้อมูลกับผู้แทนประเทศต่างๆ จากสถานเอกอัครราชทูตประจำประเทศไทย เพื่อรับทราบมาตรการของไทยในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ประมาณ 1 เดือนเศษหลังจากประเทศไทยพบผู้ป่วยยืนยันโควิด 19 รายแรก ส่งผลให้เกิดสัมพันธภาพที่ดีในระยะต่อมา อาทิเช่น การสนับสนุนเวชภัณฑ์ต่างๆ รวมทั้งยา และวัคซีนมากกว่า 13 ล้านโดส หรือตู้เย็นสำหรับเก็บวัคซีนจำนวนมากจากองค์กรระหว่างประเทศและประเทศต่างๆ ที่มีความร่วมมืออันดี นอกจากนี้มีความร่วมมือกับองค์กรที่ไม่เเสวงหาผลกำไร จัดทำสายด่วนสำหรับการให้ข้อมูลและช่วยเหลือชาวต่างชาติ เเละแรงงานข้ามชาติ (Migrant Hotline 1422) เกี่ยวกับเรื่องโควิด 19
สำหรับยุทธศาสตร์ความร่วมมือระหว่างประเทศ ด้านการป้องกันควบคุมโรคเเละภัยสุขภาพที่จัดประชุมระหว่างวันที่ 23-24 มิถุนายน 2565 เป็นแผนระยะที่ 2 ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ในยุทธศาสตร์ที่ 3 การพัฒนาเเละสร้างเสริมศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ เเละยุทธศาสตร์ที่ 6 ด้านการปรับสมดุลเเละพัฒนาระบบบริหารจัดการภาครัฐ โดยมีแผนแม่บทที่ 13 การเสริมสร้างให้คนไทยมีสุขภาวะที่ดีเป็นหลัก รวมทั้งเป็นการดำเนินการตามภารกิจกรมควบคุมโรคที่ใช้ยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี ด้านการป้องกันควบคุมโรคเเละภัยสุขภาพที่มียุทธศาสตร์ที่ 4 การปรับปรุงระบบบริหารจัดการเเละพัฒนาความร่วมมือ เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงาน
ด้านสัตวเเพทย์หญิงเสาวพักตร์ ฮิ้นจ้อย ผู้อำนวยการสำนักงานความร่วมมือระหว่างประเทศ กรมควบคุมโรค กล่าวว่า ทิศทางการพัฒนายุทธศาสตร์ความร่วมมือระหว่างประเทศสำคัญ ประกอบด้วย การพัฒนาบทบาทนำในเวทีระดับภูมิภาคเเละนานาชาติ ปัจจุบันประเทศไทยได้รับการเลือกให้เป็นที่ตั้งของสำนักงานเลขาธิการศูนย์อาเซียน ด้านการรับมือกับภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขและโรคอุบัติใหม่ (ASEAN Centre for Public Health Emergencies and Emerging Diseases: ACPHEED) และประเทศไทยยังเป็นประธานวาระความมั่นคงด้านสุขภาพโลก (GHSA) ในปี 2563
นอกจากนี้ ยังมุ่งเน้นการยกระดับยุทธศาสตร์ความร่วมมือระหว่างประเทศฯ การนำเทคโนโลยีมาใช้ในงานเเละพัฒนานวัตกรรมอย่างสม่ำเสมอ การสนับสนุนงบประมาณเเละนโยบาย การเตรียมความพร้อมของบุคลากรเเละองค์กรให้เข้มเเข็งเเละการผลักดันกรอบอนุสัญญา ตลอดจนข้อตกลงหรือความร่วมมือระหว่างประเทศอย่างต่อเนื่อง
**********************************
ข้อมูลจาก : สำนักงานความร่วมมือระหว่างประเทศ กรมควบคุมโรค
วันที่ 24 มิถุนายน 2565