เมื่อวันที่ (21 ตุลาคม 2565) ที่กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมควบคุมโรค พร้อมด้วยนายแพทย์ขจรศักดิ์ แก้วจรัส รองอธิบดีกรมควบคุมโรค และ นายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค เข้าร่วมจัดกิจกรรม หยุดสูญเสีย หยุดรถ ให้คนข้ามทางม้าลาย #ความดีที่คุณทำได้ ครั้งที่ 9 จัดโดยคณะกรรมการบูรณาการกู้ชีพฉุกเฉินและความปลอดภัยทางถนน สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา สานพลัง สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กระทรวงสาธารณสุข และภาคีเครือข่ายที่เข้าร่วม ได้แก่ ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย (WHO) สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแพทย์ ยุวกาชาด โดยมีนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย สมาชิกวุฒิสภา ประธานเปิดกิจกรรมฯ พร้อมยื่นข้อเสนอเชิงนโยบายต่อกระทรวงสาธารณสุข ด้าน “การบริหารจัดการอุบัติเหตุทางถนน สู่มาตรฐานบูรณาการข้อมูลอุบัติเหตุ ทางม้าลายที่ปลอดภัย และสวมหมวกนิรภัยซ้อนท้ายจักรยานยนต์” โดยมีนายแพทย์ขจรศักดิ์ แก้วจรัส รองอธิบดีกรมควบคุมโรคเป็นผู้แทนรับมอบ
นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย สมาชิกวุฒิสภา ประธานเปิดกิจกรรมฯ และประธานคณะกรรมการบูรณาการกู้ชีพฉุกเฉินและความปลอดภัยทางถนน สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา กล่าวว่า “อุบัติเหตุทางถนน” เป็นปัญหาอันดับต้นๆ ของโลก ที่ทำให้คนเจ็บป่วย เสียชีวิต พิการ ก่อความเสียหายทางเศรษฐกิจทั่วโลก แม้ว่าภาพรวมของไทยจะพบความสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนนลดลง ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ที่เกิดสถานการณ์โควิด-19 แต่ปี 2564 ยังพบผู้เสียชีวิตประมาณ 47 คน/วัน หรือคิดเป็นจำนวนรวมทั้งสิ้น 16,957 ราย ในจำนวนนี้มีคนกลุ่มเปราะบางที่ใช้ชีวิตเดินและข้ามถนน ในกรุงเทพฯ 6–8% และตามจังหวัดต่างๆ กว่า 90% ซึ่งสร้างความสูญเสียมหาศาลกับชีวิต ทรัพย์สิน สังคม รวมไปถึงค่าใช้จ่ายทางระบบสาธารณสุข ข้อเสนอเชิงนโยบายที่ยื่นต่อกระทรวงสาธารณสุข มีเป้าหมายแก้ปัญหา ภายใต้วิถีแห่งระบบที่ปลอดภัย (Safe System Approach) ประเด็นการบูรณาการข้อมูลอุบัติเหตุ ที่กรมควบคุมโรค มีความพร้อมเรื่องการจัดการข้อมูล สู่การสร้างกลไก และประสานความร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ โดยเน้นความเสี่ยงเรื่องการข้ามทางม้าลายอย่างปลอดภัย และส่งเสริมการสวมหมวกนิรภัยขณะใช้จักรยานยนต์ ผ่านข้อเสนอ 3 ด้าน 1.ด้านการบริหารจัดการ : โครงสร้าง มาตรฐานบูรณาการข้อมูลอุบัติเหตุ งบประมาณและ KPI กำกับติดตาม 2.ด้านทางม้าลายมาตรฐาน-ปลอดภัย และ “มาตรการตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์” 3.ด้านการสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยและความรับผิดชอบร่วมกัน
ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า เจตนารมณ์ของ สสส. คือ สร้างความปลอดภัยทางถนนและลดอุบัติเหตุอย่างต่อเนื่อง เพื่อจุดประกายให้เกิดสังคมที่มีความปลอดภัย โดย “ทางม้าลาย” ผลักดันให้มีมาตรการและระบบที่รัดกุมเพื่อคุ้มครองทุกชีวิตบนถนน มีเป้าหมายสูงสุด คือ “หยุดความสูญเสียไม่ให้เกิดขึ้นซ้ำ” ที่ผ่านมามีการรณรงค์ให้เกิดการชะลอรถก่อนถึงทางม้าลาย และใช้ความเร็วที่ 30 กม./ชม. ในเขตชุมชน การทำกิจกรรมและยื่นข้อเสนอที่ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ในครั้งนี้ มีจุดหมายสำคัญคือ ผลักดันให้เกิดการสร้างเสริมระบบความปลอดภัยทุกพื้นที่และตลอดทั้งปี และเป็นทุกวินาที ทุกวัน เพื่อทำให้ทุกชีวิตในสังคมได้รับความปลอดภัยที่แท้จริง
แพทย์หญิงศิริรัตน์ สุวรรณฤทธ์ ผู้อำนวยการกองป้องกันการบาดเจ็บ ได้นำเสนอสถานการณ์การบาดเจ็บทางถนนของประเทศไทย ว่า จำนวนอัตราการเสียชีวิตจากการจราจรทางถนน ปี 2564 ร้อยละ 25.92% จำนวนอัตราการเสียชีวิตจากการจราจรทางถนน ปี 2564 จำนวนบาดเจ็บสะสม 7 ปี 5 เดือน 8,886,931 คน สัดส่วนผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุที่พบ ดื่มแล้วขับ มีแนวโน้มลดลงชัดเจนในภาพรวมจากร้อยละ 36 ในปี 2553 ลดลงเหลือร้อยละ 23 ในปี 2564 เช่นเดียวกับ สถานการณ์ในกลุ่มผู้บาดเจ็บที่ขับขี่รถเก๋ง รถกระบะ และรถจักรยานยนต์ ซึ่งพบพฤติกรรมเมาแล้วขับที่มีแนวโน้มลดลงเช่นเดียวกันสัดส่วน การดื่มแล้วขับ ในกลุ่มผู้ขับขี่ที่ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต ปี 2553-2564 และ 2565 (6 เดือน)
นอกจากนั้น คณะกรรมการบูรณาการกู้ชีพฉุกเฉินและความปลอดภัยทางถนน สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กระทรวงสาธารณสุข และภาคีเครือข่าย ได้ร่วมเยี่ยมชมบูธนิทรรศการเกี่ยวกับสถานการณ์อุบัติเหตุทางถนนและบูธนิทรรศการ “ดื่มไม่ขับ ขับไม่ดื่ม”พร้อมทั้งกิจกรรมเดินขบวนรณรงค์สร้างจิตสำนึกผู้ขับขี่ให้หยุดรถตรงทางม้าลาย ประชาสัมพันธ์สร้างจิตสำนึกผู้ขับขี่รถให้หยุดรถตรงทางม้าลายขับขี่ปลอดภัยร่วมลดอุบัติเหตุ กิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ “ขอทางม้าลายที่ปลอดภัย พร้อมทั้งมีกิจกรรม ”เยี่ยมชมธนาคารหมวกกันน็อค และตู้อบฆ่าเชื้อหมวกนิรภัย และแจกสื่อประชาสัมพันธ์บริเวณจุดที่จัดตลาดนัดเชื่อมไปกรมอนามัย ณ ทางม้าลายระหว่างกรมควบคุมโรคและกรมอนามัย
*************************
ข้อมูล : กองป้องกันการบาดเจ็บ/สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค
วันที่ 23 ตุลาคม 2565