สำนักงานใหญ่องค์การอนามัยโลก โดยฝ่ายวัคซีนและชีววิทยา (WHO's Department of Immunization, Vaccines and Biologicals, IVB) คัดเลือก 2 ประเทศ เป็นต้นแบบแผนงานวัคซีนไข้หวัดใหญ่ คือ ประเทศไทย และสาธารณรัฐเคนยา เพื่อเรียนรู้ประสบการณ์ของประเทศในการใช้วัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล เพื่อประโยชน์ต่อผู้กำหนดนโยบายการใช้วัคซีนไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลของประเทศต่างๆ รวมทั้งการพัฒนาและการผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล
วันนี้ (7 พฤศจิกายน 2566) ณ โรงแรมแกรนด์ ริชมอนด์ จ.นนทบุรี นายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค เป็นประธานร่วมกับ Dr.Jos Vandelaer ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย เปิดการประชุมแลกเปลี่ยนประสบการณ์บริหารวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ ในประเทศไทยซึ่งมีอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญ ผู้บริหารและผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กรมควบคุมโรค สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา สถาบันวัคซีนแห่งชาติ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และผู้เชี่ยวชาญองค์การอนามัยโลก เข้าร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูลการดำเนินงานแผนงานวัคซีน ไข้หวัดใหญ่ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 ซึ่งได้ข้อสรุปการเรียนรู้สำหรับองค์การอนามัยโลกใช้แนะนำประเทศต่างๆ ในการกำหนดนโยบายให้วัคซีนไข้หวัดใหญ่ต่อไป
นายแพทย์โสภณ กล่าวว่า โรคไข้หวัดใหญ่ในประเทศไทยมีการระบาดในฤดูกาลฝน และปีนี้มีแนวโน้มผู้ป่วยเพิ่มขึ้นทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย ซึ่งตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 28 ตุลาคม 2566 มีรายงานผู้ป่วย 355,936 ราย เสียชีวิต 21 ราย สาเหตุเกิดจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิดเอเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้น มาตรการในการป้องกันและควบคุมโรคที่สำคัญ และช่วยลดความรุนแรงของโรคไข้หวัดใหญ่ โดยตั้งแต่ ปี 2547 เป็นต้นมา รัฐบาลจัดหาวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลให้กับกลุ่มเสี่ยง 7 กลุ่ม และบุคลากรทางการแพทย์ โดยจะดำเนินการฉีดในช่วงเดือนพฤษภาคม ถึงสิงหาคมของทุกปี อย่างไรก็ตาม หากมีการพัฒนาประสิทธิภาพของวัคซีนให้สามารถเพิ่มภูมิคุ้มกันได้นานมากขึ้น และครอบคลุมสายพันธุ์ที่มีการระบาด ย่อมส่งผลดีทั้งต่อประชาชน บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข และเกิดความเชื่อมั่นในการรับมือกับการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
*******************************************************
ข้อมูลจาก : กองโรคติดต่อทั่วไป/สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค
วันที่ 7 พฤศจิกายน 2566