Search
Close this search box.

กรมควบคุมโรค ร่วมกับภาคีเครือข่าย ชูประเด็น “หยุดบังคับตรวจเอชไอวี หยุดใช้เอชไอวีเป็นเงื่อนไขในการทำงานหยุดการตีตราและเลือกปฏิบัติ” เนื่องในวันยุติการเลือกปฏิบัติสากล

วันนี้ (1 มีนาคม 2566) ณ โรงแรมทีเค พาเลซ กรุงเทพมหานคร นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เป็นประธาน การประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาเครือข่ายยุติการตีตราและเลือกปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับเอชไอวี/เอดส์ เนื่องในวันยุติการเลือกปฏิบัติสากล พร้อมด้วยว่าที่ร้อยตรีสมศักดิ์ พรหมดำ รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน และผู้แทนจากภาคเอกชน ภาคประชาสังคม  โดยภายในงานเน้นประเด็น “หยุดบังคับตรวจเอชไอวี หยุดใช้เอชไอวีเป็นเงื่อนไขในการทำงาน หยุดการตีตราและเลือกปฏิบัติ” สอดคล้องกับแนวคิด “Save lives : Decriminalise” ช่วยชีวิตและยุติปัญหาเอดส์: ยุติการเลือกปฏิบัติ

นายแพทย์ธเรศ กล่าวว่า ประเทศไทยแสดงเจตนารมณ์อย่างมุ่งมั่นที่จะยุติปัญหาเอดส์ ภายในปี 2573
ซึ่งมีเป้าหมายหลัก 3 ประการ คือ ลดจำนวนผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ ปีละไม่เกิน 1,000 ราย ลดการเสียชีวิตในผู้ติดเชื้อเอชไอวีปีละไม่เกิน 4,000 ราย ลดการรังเกียจและการเลือกปฏิบัติที่เกี่ยวเนื่องจากเอชไอวีและเพศภาวะให้เหลือไม่เกิน ร้อยละ 10 แม้ว่าประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่มีศักยภาพในการแก้ไขปัญหาเอดส์ และประสบความสำเร็จทั้งการป้องกัน ลดการเจ็บป่วยเสียชีวิตจากเอชไอวี แต่หนึ่งในความท้าทายของการดำเนินงานในปัจจุบัน คือ การลดการตีตราและการเลือกปฏิบัติที่เกี่ยวเนื่องกับเอชไอวีและเพศภาวะที่ยังมีอยู่ในสังคม นับเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้คนที่มีพฤติกรรมเสี่ยง เข้าไม่ถึงการตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวี หรือเมื่อตรวจพบเชื้อแล้วไม่กล้าเข้าสู่กระบวนการรักษา เพราะกลัวคนจะรู้ หากสามารถยุติการตีตราและการเลือกปฏิบัติในเรื่องเอชไอวีและเพศภาวะ โดยคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน และเคารพในสิทธิมนุษยชน จะนำไปสู่การยุติปัญหาเอดส์ของประเทศได้

ประเทศไทยได้ร่วมดำเนินการตามแนวคิด “สานพลังยุติการเลือกปฏิบัติ” และร่วมกันสร้างสังคมที่ไม่มีการตีตราและเลือกปฏิบัติ โดยหน่วยงานภาคีเครือข่ายได้ร่วมกันจัดทำแผนปฏิบัติการ เพื่อลดการตีตราและการเลือกปฏิบัติอันเนื่องมาจากเอชไอวีและเพศสภาพทุกรูปแบบ พ.ศ. 2565-2569 ด้วยการสานพลังจากการมีส่วนร่วมของ 6 ภาคส่วน ได้แก่ ภาคส่วนชุมชน ภาคส่วนการทำงาน ภาคส่วนด้านการดูแลสุขภาพ ภาคส่วนการศึกษา ภาคส่วนยุติธรรมและกฎหมาย และภาคส่วนการช่วยเหลือในภาวะฉุกเฉินและเพื่อมนุษยธรรม รวมถึงส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและความเท่าเทียมทางเพศภาวะ มีการขับเคลื่อนมาตรการสำคัญที่มุ่งเน้นการสร้างความเข้าใจเรื่องการตีตราและการเลือกปฏิบัติในทุกระดับ อีกทั้งผลักดันให้มีพระราชบัญญัติขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลในสังคม เพราะการลดการตีตราและเลือกปฏิบัตินี้จะช่วยนำผู้ติดเชื้อเอชไอวี เข้าสู่ระบบบริการสุขภาพ และเกิดการดูแลสุขภาพอย่างต่อเนื่องตามมาตรฐาน จะทำให้ทุกคนสามารถอยู่ร่วมกันได้ สามารถประกอบอาชีพ เลี้ยงดูตนเองและครอบครัวได้ และนำไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดี

นายแพทย์ธเรศ กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรค มีทิศทางการดำเนินงานสำคัญเพื่อสนับสนุนการ “หยุดการตีตราและเลือกปฏิบัติ” โดยได้มีมาตรการ ดังนี้ 1) สร้างความเข้าใจเรื่องการตีตรา เพื่อไม่ให้มีการเลือกปฏิบัติในทุกระดับ โดยในส่วนของสถานบริการสุขภาพต้องเอื้อต่อการมารับบริการ รวมทั้งผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ที่ได้รับผลกระทบไม่ตีตราตนเอง ซึ่งได้จัดทำหลักสูตรการอบรมให้กับผู้ให้บริการในสถานบริการสุขภาพ ร่วมกับการบูรณาการประเด็นลดการตีตราและเลือกปฏิบัติเข้ากับการพัฒนาคุณภาพบริการ รวมทั้งมีโปรแกรมลดการตีตราตนเองในสถานบริการสุขภาพ ซึ่งมีโรงพยาบาลที่เข้าร่วมดำเนินงาน จำนวน 179 แห่ง และวางแผนขยายภายในปี 2569 ให้ได้ร้อยละ 80 ของสถานบริการในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขและกรุงเทพมหานคร  2) พัฒนาระบบข้อมูลและกลไกการรับเรื่องร้องเรียนและคุ้มครองการละเมิดสิทธิด้านเอดส์ (Crisis Response System: CRS) เพื่อให้เกิดระบบการจัดการปัญหา การถูกละเมิดสิทธิด้านเอดส์ และการให้ความช่วยเหลือ ที่สะดวก เข้าถึงง่าย มีประสิทธิภาพ สามารถช่วยเหลือได้จริง โดยสามารถร้องเรียนได้ที่ “ปกป้อง” ค้นหาใน Google แล้วพิมพ์ว่า “สวัสดีปกป้อง” ซึ่งเป็นระบบรับเรื่องร้องเรียนและคุ้มครองการละเมิดสิทธิด้านเอดส์ เพศภาวะ และความเป็นกลุ่มประชากรเปราะบางต่อการถูกเลือกปฏิบัติ โดยปัจจุบันได้มีการขยายการดำเนินงานระบบรับเรื่องร้องเรียน (CRS) และกลไกการคุ้มครองสิทธิระดับพื้นที่ จำนวน 37 จังหวัด และวางแผนขยายการดำเนินงานให้ครอบคลุม 50 จังหวัดภายในปี 2569

และ 3) จัดบริการตรวจคัดกรองเอชไอวีด้วยตนเอง ในกลุ่มประชากรทั่วไปที่มีพฤติกรรมเสี่ยงและกลุ่มประชากรหลัก ซึ่งเป็นเครื่องมือส่งเสริมให้ประชาชนทราบสถานะการติดเชื้อเอชไอวีโดยเร็ว เพื่อเข้าสู่ระบบการป้องกัน และการรักษาด้วยยาต้านไวรัส รวมถึงเป็นเครื่องมือสำคัญในการส่งเสริมให้เอชไอวีเป็นเรื่องปกติ ซึ่งจะนำไปสู่การลดการตีตราและเลือกปฏิบัติในสังคม โดยผลักดันให้การตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวีด้วยตนเอง เป็นสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งคาดว่าจะเข้าสู่ชุดสิทธิประโยชน์ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพในปีนี้ รวมทั้ง พัฒนาระบบบริการให้คำปรึกษาเพื่อรองรับการตรวจหาการติดเชื้อด้วยตนเอง

นอกจากนี้ภายในงานได้จัดเวทีเสวนา “เสียงนี้ มีความหมาย” โดยผู้แทนจากภาคเอกชน และภาคประชาสังคมร่วมกันสะท้อนถึงสถานการณ์การตีตราและการเลือกปฏิบัติอันเนื่องมาจากเอชไอวี/เอดส์ ในสถานประกอบการ ตลอดจนผลกระทบจากการเข้าไม่ถึงการมีงานทำ อันเนื่องมาจากเงื่อนไขด้านเอชไอวี นำไปสู่การหาทางออกร่วมกันได้อย่างตรงจุดจากผู้ที่มีประสบการณ์ตรง และแสดงเจตนารมณ์ในเรื่อง “หยุดบังคับตรวจเอชไอวี หยุดใช้เอชไอวีเป็นเงื่อนไขในการทำงาน หยุดการตีตราและเลือกปฏิบัติ” เพื่อการลดการตีตราและการเลือกปฏิบัติอันเนื่องมาจากเอชไอวี/เอดส์ ทุกรูปแบบ เพื่อให้ทุกคน “Save lives : Decriminalise” ช่วยชีวิตและยุติปัญหาเอดส์: ยุติการเลือกปฏิบัติ

 

*********************************************

ข้อมูลจาก : กองโรคเอดส์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์/สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค

วันที่ 1 มีนาคม 2566

แชร์เลย / Share