Search
Close this search box.
  • Version
  • ดาวน์โหลด
  • ขนาดไฟล์ 0.00 KB
  • จำนวนไฟล์ 0
  • วันที่สร้าง เมษายน 11, 2023
  • วันที่ปรับปรุงล่าสุด เมษายน 11, 2023
  • หน่วยงาน กลุ่มเฝ้าระวังเเละตอบโต้สื่อสารความเสี่ยง

กรมควบคุมโรค พยากรณ์โรคฯ ฉบับที่ 12/2566 "พบ ! คอตีบ ไอกรน เพิ่มสูงขึ้นโดยเฉพาะในกลุ่มเด็กเล็ก แนะประชาชนเข้ารับวัคซีนป้องกันโรค"

 

กรมควบคุมโรค ขอเผยแพร่ “พยากรณ์โรคและภัยสุขภาพรายสัปดาห์”

ฉบับที่ 12/2566 ประจำสัปดาห์ที่ 13 (วันที่ 2 – 8 เมษายน 2566)

         “จากการเฝ้าระวังของกรมควบคุมโรค สถานการณ์โรคที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีน พบว่า สถานการณ์โรคไอกรน ในปี 2565 ที่ผ่านมา พบผู้ป่วย 19 ราย กลุ่มที่มีอัตราป่วยสูงสุด ได้แก่ 0-4 ปี รองลงมาคือ 45-54 ปี และ 25-34 ปี ตามลำดับ และในช่วงต้นปี 2566 พบผู้ป่วยแล้ว 4 ราย  กลุ่มที่มีอัตราป่วยสูงสุด ได้แก่ 0-4 ปี รองลงมาคือ 7-9 ปี และ >65 ปี สำหรับสถานการณ์โรคคอตีบ ในช่วงปี 2564 – 2566 แม้จะยังไม่มีรายงานผู้ป่วยยืนยันตามระบบเฝ้าระวังทางระบาดวิทยา แต่จากการตรวจสอบข่าวการเฝ้าระวังเหตุการณ์ในช่วงต้นปี 2566 นี้ พบผู้ป่วยที่เข้าเกณฑ์รายงานสงสัยโรคคอตีบแล้ว 10 เหตุการณ์” 

        “การพยากรณ์โรคและภัยสุขภาพของสัปดาห์นี้คาดว่าในช่วงนี้มีโอกาสจะพบผู้ป่วยโรคที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีนเพิ่มขึ้น เนื่องจากความครอบคลุมของการได้รับวัคซีนลดลง จากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ที่ผ่านมา ทำให้ในบางพื้นที่เด็กอาจยังไม่ได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์ 

        โรคคอตีบ เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย (C. diphtheria) ติดต่อกันได้โดยง่ายผ่านทางการไอ จาม หรือสัมผัสกับสารคัดหลั่งหรือสิ่งของเครื่องใช้ของผู้ป่วย นับเป็นโรคติดต่อที่เกิดขึ้นเฉียบพลันและร้ายแรง อาการของโรคจะแสดงหลังจากการติดเชื้อประมาณ 2-5 วัน ผู้ป่วยจะมีไข้สูง หนาวสั่น มีน้ำมูก เจ็บคอ คออักเสบ กลืนอาหารลำบาก รู้สึกเจ็บเวลากลืน คอบุ๋ม หอบ หายใจลำบาก หากอาการรุนแรงมากอาจทำให้หายใจไม่ออก จนเป็นอันตรายถึงชีวิต หากตรวจคออาจพบแผ่นฝ้าสีขาวปนเทาขึ้นบริเวณลำคอ ต่อมทอนซิล หรือลิ้นไก่ อาจพบภาวะแทรกซ้อน เช่น โรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ และเส้นประสาทอักเสบ 

        โรคไอกรน เป็นโรคติดเชื้อทางระบบทางเดินหายใจ เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย (B. pertussis)ทำให้มีการอักเสบของเยื่อบุทางเดินหายใจ ติดต่อกันได้ง่ายจากการไอ จาม สัมผัสกับสารคัดหลั่งและเครื่องใช้ของผู้ป่วย ส่วนใหญ่พบการติดเชื้อในเด็ก ซึ่งอาการของโรคไอกรนในเด็กอาจรุนแรงมากจนทำให้เสียชีวิตได้ อาการของโรคจะแสดงหลังจากได้รับเชื้อประมาณ 6-20 วัน ผู้ป่วยจะมีไข้ต่ำๆ มีน้ำมูก และไอ โดยอาจเป็นต่อเนื่องประมาณ 1 สัปดาห์ จากนั้นจะเริ่มแสดงอาการสำคัญของโรคคือ ไอซ้อนๆ ถี่ๆ ติดกัน 5-10 ครั้งหรือมากกว่านั้น จนทำให้ผู้ป่วยหายใจไม่ทัน จึงหยุดไอ และพยายามหายใจเข้าลึกๆ และมีเสียงดังวู๊ป สลับกับการไอเป็นชุด ทั้งนี้อาการที่กล่าวมาอาจเป็นเรื้อรังติดต่อกันนานถึง 2-3 เดือน

        วัคซีนคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก นับเป็นวัคซีนพื้นฐานที่เด็กทุกคนจำเป็นต้องได้รับ เนื่องจากโรคเหล่านี้เป็นโรคร้ายแรง โดยเฉพาะหากเกิดขึ้นกับเด็กเล็ก ถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที อาจทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้ ในประเทศไทยได้กำหนดให้เด็กทุกคนฉีดวัคซีนป้องกันโรคคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2538 ซึ่งช่วยลดจำนวนผู้ป่วยลงได้มาก กรมควบคุมโรคจึงขอแนะนำให้ประชาชนนำบุตรหลานไปรับวัคซีนให้ครบตามช่วงเวลาที่กำหนด ตั้งแต่อายุ 2 เดือนขึ้นไป ควรสังเกตอาการของบุตรหลานอย่างใกล้ชิด หากมีอาการดังกล่าวข้างต้น ให้รีบไปพบแพทย์โดยเร็ว สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422”

 

                                                                    *******************************************************

ข้อมูลจาก : ทีม SAT / สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค

วันที่ 4 เมษายน 2566

แชร์เลย / Share