กรมควบคุมโรค จับมือศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคแห่งชาติสหรัฐอเมริกา หรือ US CDC เล็งตั้งศูนย์กลางการวิจัยในไทย ต่อยอดการใช้ประโยชน์ในระดับภูมิภาค ด้านผู้เเทนสหรัฐฯ ชื่นชมหลักสูตรพัฒนากำลังคนด้านระบาดวิทยาภาคสนาม สร้างเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญเเล้วกว่า 200 คน เสริมความมั่นคงสุขภาพของภูมิภาคจัดการโควิด 19 ได้สำเร็จ
เมื่อวันที่ (7 มิถุนายน 2565) นายเเพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค พร้อมด้วยนายเเพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค นายเเพทย์วิชาญ ปาวัน ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป เเละผู้เเทนสำนักงานความร่วมมือระหว่างประเทศ หารือคณะผู้บริหารจากศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (Centers for Disease Control and Prevention: CDC) นำโดย Dr. Deb Houry รักษาการรองผู้อำนวยการ CDC ในเรื่องยุทธศาสตร์ระดับภูมิภาคที่จะดำเนินการและการจัดตั้ง Research hub ในประเทศไทยเพื่อรองรับการขยายผลใช้ประโยชน์งานวิจัย ตลอดจนยกระดับการป้องกันโรคทั้งในระดับประเทศเเละภูมิภาค หลังเคยหารือไว้ก่อนหน้านี้
นายเเพทย์โอภาส กล่าวว่า กรมควบคุมโรคเเละ US CDC มีความร่วมมือเป็นเวลานานกว่า 4 ทศวรรษ ภายหลังการระบาดของโรคติดต่ออุบัติใหม่เเละการเพิ่มขึ้นของภัยสุขภาพ ทาง US CDC ได้พัฒนายุทธศาสตร์ด้านการวิจัยเเละต่อยอดมากขึ้น โดยเล็งตั้งศูนย์กลางการวิจัยในประเทศไทย เพื่อพัฒนาความร่วมมือภายในภูมิภาค และนำผลการวิจัยไปต่อยอดตามประเทศต่างๆ ในภูมิภาคอาเซียน
ในโอกาสที่ประเทศไทยในฐานะเจ้าภาพในการจัดตั้งสำนักงานเลขาธิการศูนย์อาเซียนด้านการรับมือกับภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขและโรคอุบัติใหม่ (ACPHEED) ซึ่งจะเปิดตัวในเดือนสิงหาคม 2565 ซึ่งประเทศไทย เวียดนาม และอินโดนีเซีย จะเป็นศูนย์กลางด้านการป้องกันการตรวจจับในภูมิภาค โดย US CDC ยินดีสนับสนุนผู้เชี่ยวชาญด้านการดื้อยาของเชื้อจุลชีพ การพัฒนากำลังคน และการทำงานด้วยแนวคิดสุขภาพหนึ่งเดียว (One Health) พร้อมเชื่อมโยงกับการดำเนินงานวาระความมั่นคงด้านสุขภาพโลก (Global Health Security Agenda : GHSA) ที่ไทยเป็นประธานในปีที่ผ่านมา และปัจจุบันเป็นคณะกรรมการถาวร ทำให้มีโอกาสร่วมผลักดันนโยบายความมั่นคงทางสุขภาพในระดับโลก
“ที่ผ่านมา US CDC ได้สนับสนุนเทคนิคเเละแหล่งทุนในโครงการสำคัญต่างๆ โดยเฉพาะโครงการพัฒนากำลังคนด้านระบาดวิทยาภาคสนาม (FETP) ที่ได้พัฒนาและขยายเครือข่ายทั้งในและนอกประเทศมาตลอด 42 ปี มีเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญรวมกว่า 200 คน สะท้อนขีดความสามารถของประเทศด้านป้องกัน ควบคุมและตอบโต้โรคและภัยสุขภาพ เห็นได้จากความสำเร็จของประเทศไทยในการจัดการกับการระบาดใหญ่ของโรคโควิด 19 ได้สำเร็จจนเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ ” นายเเพทย์โอภาส กล่าว
**********************************
ข้อมูลจาก : สำนักงานความร่วมมือระหว่างประเทศ กรมควบคุมโรค
วันที่ 9 มิถุนายน 2565
File | Action |
---|---|
80665-11.jpg | ดาวน์โหลด |