กรมควบคุมโรคขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะว่าด้วยการสานพลังสร้างสภาวะแวดล้อมทางกายภาพและสังคมเพื่อลดโรคไม่ติดต่อ ภายใต้แผนปฏิบัติการด้านการป้องกันและควบคุมโรคไม่ติดต่อของประเทศไทย (พ.ศ. 2566-2570) ผ่านกลไกสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น เพื่อยกระดับและสร้างการมีส่วนร่วมให้ทุกภาคส่วน ร่วมเป็นหุ้นส่วนและเครือข่ายในการสร้างสภาวะแวดล้อมทางกายภาพและสังคมที่เอื้อต่อการลดปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ ควบคู่กับการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านการป้องกันและควบคุมโรคไม่ติดต่อของประเทศไทย (พ.ศ. 2566-2570)
วันนี้ (5 สิงหาคม 2567) ณ ห้องประชุม Venus ชั้น 3 โรงแรมมิราเคิล แกรนด์คอนเวนชั่น กรุงเทพมหานคร กองโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ และสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ จัดประชุมสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็นว่าด้วยการสานพลังสร้างสภาวะแวดล้อมทางกายภาพและสังคมเพื่อลดโรคไม่ติดต่อ โดยมีนายแพทย์โสภณ เมฆธน ประธานคณะกรรมการพัฒนานโยบายสาธารณะว่าด้วยการสานพลังสร้างสภาวะแวดล้อมทางกายภาพและสังคมเพื่อลดโรคไม่ติดต่อ เป็นประธานการประชุม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรับรองมติสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็นว่าด้วยการสานพลังสร้างสภาวะแวดล้อมทางกายภาพและสังคมเพื่อลดโรคไม่ติดต่อ
นายแพทย์อดิสรณ์ วรรธนะศักดิ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ปัญหาโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ถือเป็นภัยคุกคามทางสุขภาพที่สำคัญ และเป็นสาเหตุการเสียชีวิตมากเป็นอันดับหนึ่ง ที่ส่งผลกระทบทั้งกับคุณภาพชีวิตของประชาชน ตลอดจนระบบเศรษฐกิจของประเทศ โดยที่ผ่านมากองโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค ได้พัฒนาแผนปฏิบัติการด้านการป้องกันและควบคุมโรคไม่ติดต่อของประเทศไทย (พ.ศ. 2566-2570) ขึ้นมา เพื่อตอบสนองต่อการจัดการปัญหา NCDs แผนปฏิบัติการดังกล่าว ประกอบด้วย 3 ยุทธศาสตร์สำคัญ ได้แก่ ยุทธศาสตร์ที่ 1 บูรณาการเครือข่ายทุกภาคส่วนในการจัดการโรค NCDs (Smart NCD Network) ยุทธศาสตร์ที่ 2 สร้างเสริมความรอบรู้ (NCD Health Literacy) ความตระหนักรู้ รู้เท่าทัน และค่านิยมในการป้องกันควบคุมโรค NCDs ของคนในชาติ และยุทธศาสตร์ที่ 3 สร้างระบบนิเวศ (NCD Ecosystem) ที่เอื้อต่อการจัดการโรค NCDs ซึ่งยุทธศาสตร์ที่ 3 ขับเคลื่อนผ่านกลไกสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น ที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคประชาสังคม และประชาชน
นายแพทย์กฤษฎา หาญบรรเจิด ผู้อำนวยการกองโรคไม่ติดต่อ กล่าวเพิ่มเติมว่า กรอบทิศทางนโยบาย ประกอบด้วย 5 มาตรการหลัก 5 ระบบกลไกหนุนเสริม และ 3 หลักการสำคัญ กล่าวคือ 5 มาตรการหลัก ได้แก่ 1) การจัดระเบียบและลดการเข้าถึงสินค้าทำลายสุขภาพ 2) การส่งเสริมการผลิต กระจายพัฒนามาตรฐานเพื่อเพิ่มการเข้าถึงสินค้าและบริการที่ดีต่อสุขภาพ 3) การสร้างสิ่งแวดล้อมสรรค์สร้างและพื้นที่สุขภาวะ 4) การสร้างความตระหนัก ความรอบรู้/สื่อสารข้อมูลข่าวสาร ส่งเสริมสุขภาพที่ถูกต้องและจำกัดสื่อโฆษณา และ 5) การสร้างโอกาส ประสบการณ์ กิจกรรมส่งเสริมการมีวิถีชีวิตสุขภาพดีและพัฒนาศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ 5 ระบบกลไกหนุนเสริม ได้แก่ 1) การพัฒนาเครื่องมือนโยบาย (policy instruments) และมาตรฐานที่เกี่ยวข้อง 2) การออกแบบ พัฒนานวัตกรรม โมเดล และขยายผลเชิงระบบ 3) การสนับสนุนการเฝ้าระวังการปฏิบัติตามกฎหมายและความเสี่ยงต่อโรคไม่ติดต่อ 4) การพัฒนาระบบกํากับ ติดตามและประเมินผลลัพธ์ 5) การพัฒนาระบบตัดสินใจ บริหาร และสนับสนุนการลงทุน (Governance) ภายใต้ 3 หลักการสำคัญ ได้แก่ เศรษฐศาสตร์พฤติกรรม กลไกการคลัง และกลไกเครดิตทางสังคม
ทั้งนี้ การสร้างสภาวะแวดล้อมทางกายภาพและสังคมให้เอื้อต่อการลดการได้รับปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ การมีพฤติกรรมสุขภาพที่เหมาะสมและลดโรคไม่ติดต่อ เป็นการขับเคลื่อนงานที่สําคัญและช่วยเติมเต็มระบบงานที่มีการดําเนินการอยู่ที่ผ่านมา จะช่วยลดความไม่เป็นธรรมในระบบสุขภาพ เพิ่มความเข้มแข็งการพัฒนาศักยภาพคนไทย ให้มีช่วงคุณภาพชีวิตที่ดีเพิ่มขึ้น มีความพร้อมในการปรับตัว สามารถแข่งขัน ตลอดจนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือกันหลากหลายภาคส่วนประสานงานและดําเนินการร่วมกันอย่างเป็นระบบ
****************************
ข้อมูลจาก : กองโรคติดต่อทั่วไป/สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค
วันที่ 5 สิงหาคม 2567